สายไฟ เป็นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว สามารถพบเห็นได้ตามอาคารบ้านเรือน หรือตามสถานที่ต่าง ๆ หากคุณเป็นช่างมืออาชีพย่อมคุ้นเคยกับสายไฟแต่ละชนิดอยู่บ้าง แต่หากคุณยังเป็นมือใหม่ในเรื่องของสายไฟ ในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับสายไฟ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่าจริง ๆ แล้วสายไฟคืออะไร มีกี่ประเภท แต่ละประเภทใช้งานอย่างไรบ้าง
สายไฟคืออะไร
สายไฟ คือ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการนำกระแสไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟไปยังจุดที่ใช้ไฟฟ้า โดยสายไฟจะประกอบไปด้วยตัวนำไฟฟ้าที่ทำด้วยวัสดุที่มีคุณสมบัติในการนำไฟฟ้าและนำความร้อนได้ดี เช่น ทองแดงและอะลูมิเนียม
ส่วนประกอบของสายไฟ
สายไฟประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญได้แก่
ตัวนำไฟฟ้า (Conductor)
ตัวนำไฟฟ้า ทำหน้าที่ส่งผ่านกระแสไฟฟ้า โดยวัสดุที่เหมาะสมจะนำมาทำเป็นตัวนำไฟฟ้าจะต้องมีค่าความต้านทานไฟฟ้าต่ำและมีค่าความนำไฟฟ้าสูง เพื่อให้ไฟฟ้าไหลผ่านได้ง่าย ซึ่งวัสดุที่นิยมใช้ทำเป็นตัวนำไฟฟ้า ได้แก่ ทองแดงและอะลูมิเนียม
ฉนวน (Insulation)
ฉนวน เป็นวัสดุที่หุ้มตัวนำไฟฟ้า มีคุณสมบัติต้านทานต่อกระแสไฟฟ้าสูง ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านไปยังส่วนอื่น ๆ ที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ ช่วยลดอันตรายจากการใช้งานไฟฟ้า เช่น ไฟดูด ไฟรั่ว ไฟลัดวงจร เป็นต้น โดยฉนวนสายไฟส่วนใหญ่จะทำจาก โพลิไวนิลคลอไรด์ หรือฉนวน PVC (Polyvinylchloride) และครอสลิงค์ โพลีเอททีลีน หรือฉนวน XLPE (Cross-Linked Polyethylene)
เปลือกนอก (Sheath)
เปลือกนอก คือ ส่วนที่อยู่ชั้นนอกสุดของสายไฟ ทำหน้าที่ปกป้องสายไฟทั้งจากการติดตั้งและสภาพแวดล้อมที่สายไฟติดตั้งอยู่ เช่น การกระแทก การกดทับ การเสียดสี หรือการกัดกร่อนจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งวัสดุที่นิยมนำมาทำเป็นเปลือกนอก ได้แก่ PVC (Polyvinylchloride), PE (Polyethylene) และ LSHF (Low Smoke Halogen Free)
ประเภทสายไฟ
สามารถแบ่งประเภทสายไฟได้ตามพิกัดแรงดันของสายไฟ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ สายไฟแรงดันต่ำและสายไฟแรงดันสูง
1. สายไฟแรงดันต่ำ (Low Voltage Power Cable)
สายไฟที่ใช้กับแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 750 โวลต์ มีลักษณะเป็นสายไฟหุ้มด้วยฉนวน ตัวนำไฟฟ้าจะมีทั้งทองแดงและอะลูมิเนียม ฉนวนที่ใช้งานจะเป็น PVC และ XLPE โดยสายไฟแรงดังต่ำที่นิยมใช้ในประเภทไทย ได้แก่
สายไฟ THW
สายไฟ THW สายไฟที่ขึ้นชื่อเรื่องความทนแดดทนฝน นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง เพราะใช้ในวงจรไฟฟ้า 3 เฟสได้ รองรับแรงดันได้ 750 โวลต์ และสามารถทนความร้อนได้ถึง 70 องศาเซลเซียส มีขนาดตั้งแต่ 1.5-400 sq.mm. สำหรับการใช้งานสายไฟ THW นั้น ส่วนใหญ่จะนำมาเดินสายไฟในตำแหน่งที่มีความเปียกชื้น เดินลอยในอากาศ ร้อยท่อเดินใต้ฝ้าและในผนัง แต่ห้ามใช้ฝังดินโดยตรง
สายไฟ VAF
สายไฟ VAF หรือที่ช่างนิยมเรียกกันว่า สายตีกิ๊ฟหรือสายแบน เป็นสายไฟหุ้มฉนวนที่มีเปลือกนอกหุ้มอีกชั้นหนึ่ง ทนแรงดันได้ 300 โวลต์ และทนความร้อนได้ถึง 70 องศาเซลเซียส มีขนาดตั้งแต่ 1.0-16 sq.mm. นิยมใช้งานตามบ้านพักอาศัยทั่วไปในประเทศไทย โดยใช้เดินสายแบบเกาะผนัง เดินในช่องเดินสายในสถานที่แห้ง แต่ห้ามใช้ฝังดินโดยตรง และห้ามใช้ในวงจร 3 เฟสที่มีแรงดัน 380 โวลต์
สายไฟ VCT
สายไฟ VCT สายไฟหุ้มฉนวนและเปลือกนอก PVC มีขนาดตั้งแต่ 4.0-35 sq.mm. ทนแรงดันได้ 750 โวลต์ และทนความร้อนได้ถึง 70 องศาเซลเซียส มีทั้งชนิด 1 แกน 2 แกน 3 แกน และ 4 แกน ตัวนำเป็นทองแดงเส้นฝอยเล็ก ๆ รวมกัน ทำให้มีความอ่อนตัว จึงเป็นเหตุผลที่ช่างนิยมเรียกสายไฟชนิดนี้ว่า สายอ่อนหรือสายฝอย นิยมใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องเคลื่อนย้ายหรือต้องต่อลงดิน ร้อยท่อในคอนกรีต หรือใช้ฝังดินโดยตรง
สายไฟ NYY
สายไฟ NYY ในหมู่ช่างเรียกกันว่าสายฝังดิน เป็นสายไฟชนิดกลมที่มีเปลือกหุ้มอีกชั้น ทำหน้าที่ป้องกันความเสียหายจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ สามารถรองรับแรงดันได้ถึง 750 โวลต์ และทนความร้อนได้ถึง 70 องศาเซลเซียส มีขนาดตั้งแต่ 1.0-300 sq.mm. เหมาะสำหรับใช้ภายนอกอาคาร ฝังดินโดยตรง หรือเดินบนราง
2. สายไฟแรงดันสูง (High Voltage Power Cable)
สายไฟแรงดันสูง มีลักษณะเป็นสายตีเกลียวขนาดใหญ่ สามารถรับแรงดันได้ตั้งแต่ 1-36 KV แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สายไฟเปลือยและสายไฟหุ้มฉนวน
สายไฟเปลือย
- สายอะลูมิเนียมตีเกลียวเปลือย AAC มีตัวนำเป็นอะลูมิเนียมตีเกลียวเป็นชั้น ๆ รับแรงดันได้ต่ำที่สุดในบรรดาสายไฟเปลือย นิยมใช้เดินลอยในอากาศ ใช้ติดตั้งกับฉนวนลูกถ้วยแขวนบนเสาสายส่งไฟฟ้าแรงดันสูง
- สายอะลูมิเนียมผสม AAAC มีตัวนำที่ผสมจากอะลูมิเนียม แมกนีเซียม และซิลิคอน ทำให้สามารถรับแรงดันได้ดีกว่าสายไฟ AAC นิยมใช้เดินสายบริเวณชายทะเล
- สายอะลูมิเนียมแกนเหล็ก ACSR มีตัวนำเป็นอะลูมิเนียมตีเกลียว และมีแกนเหล็กอยู่ตรงกลาง ทำให้รับแรงดันได้สูงกว่าสายไฟ AAC นิยมใช้แขวนบนเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง แต่ไม่ควรใช้งานบริเวณชายทะเล เพราะไม่ทนต่อการกัดกร่อนของเกลือ
- สายอะลูมิเนียมแกนโลหะผสม ACAR มีตัวนำเป็นอะลูมิเนียมตีเกลียวคล้าย ACSR แต่แกนกลางจะเปลี่ยนจากเหล็กเป็นโลหะผสม ทนการกัดกร่อนของไอเกลือ สามารถใช้เดินสายบริเวณชายทะเลได้
สายไฟหุ้มฉนวน
- สาย Spaced Aerial Cable (SAC) มีตัวนำเป็นอะลูมิเนียมตีเกลียว หุ้มด้วยฉนวน XLPE และมีเปลือกหุ้มอีกชั้น ทำให้มีความทนทานต่อสภาพอากาศและรังสี UV เหมาะสำหรับเดินลอยในอากาศบนเสาไฟฟ้าภายนอกอาคารโดยเฉพาะ แต่หลีกเลี่ยงบริเวณที่ใกล้กับต้นไม้หรือกิ่งไม้
- สาย Preassembly Aerial Cable (PAC) มีตัวนำเป็นอะลูมิเนียมเช่นเดียวกับสาย SAC แต่มีน้ำหนักมากกว่า นิยมใช้เดินเสาไฟผ่านอาคารหรือบริเวณที่มีคนอาศัยอยู่
- สาย Weatherproof Aluminium Conductor (AW) เป็นสายอะลูมิเนียมหุ้มฉนวน PE หรือ PVC มีความทนทาน แต่ไม่แนะนำให้ใช้เดินสายภายในอาคาร เพราะมีคุณสมบัติติดไฟ
- สาย Self-supporting Service Drop Cable เป็นสายอะลูมิเนียมหุ้มฉนวน XLPE นิยมใช้เดินข้ามถนนหรือต่อจากสายป้อนหลักเข้าสู่ตัวอาคาร
มาตรฐานสายไฟมีอะไรบ้าง
สายไฟฟ้าที่ถูกนำมาใช้งาน ต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ฉบับล่าสุด คือ มาตรฐานเลขที่ มอก. 11-2553 ซึ่งของเดิมเป็น มอก.11-2531 เพื่อให้ตรงกับมาตรฐานสากล IEC 60227 ที่ใช้กันทั่วโลก เมื่อมาตรฐานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จะทำให้ช่างไฟทำงานได้สะดวก และปลอดภัยมากขึ้น
หน่วยวัดขนาดของสายไฟ
หน่วยวัดขนาดตัวนำไฟฟ้าตามมาตรฐานสากล ได้แก่ Sqmm, AWG และ SWG
Sqmm. (Square Millimeter) เป็นหน่วยวัดพื้นที่หน้าตัดของสายไฟในระบบเมตริก ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุโรปและประเทศแถบเอเชีย ตัวเลขยิ่งมาก แสดงว่าสายไฟมีขนาดใหญ่ขึ้น
AWG (American Wire Gauge) เป็นหน่วยวัดขนาดสายไฟที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา ตัวเลข AWG ยิ่งน้อย แสดงว่าสายไฟมีขนาดใหญ่ขึ้น มีค่าตั้งแต่ 0000 (ใหญ่ที่สุด) ไปจนถึง 40 (เล็กที่สุด)
SWG (Standard Wire Gauge) เป็นหน่วยวัดขนาดสายไฟที่คิดค้นโดยสหราชอาณาจักร มีลักษณะคล้ายกับ AWG คือ ตัวเลขยิ่งน้อย แสดงว่าสายไฟมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ปัจจุบันใช้น้อยลงเนื่องจากหลายประเทศหันมาใช้ Sqmm. แทน
ตารางเทียบขนาดสายไฟ Sqmm. และ AWG
เปรียบเทียบขนาดของสายไฟในหน่วยที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ Sqmm. และ AWG ดังนี้
AWG | Sqmm. |
0000 | 107.0 |
000 | 85.0 |
00 | 67.4 |
0 | 53.5 |
1 | 42.4 |
2 | 33.6 |
3 | 26.7 |
4 | 21.2 |
5 | 16.8 |
6 | 13.3 |
7 | 10.6 |
8 | 8.35 |
9 | 6.62 |
10 | 5.27 |
11 | 4.15 |
12 | 3.31 |
13 | 2.63 |
14 | 2.08 |
15 | 1.65 |
16 | 1.31 |
17 | 1.04 |
18 | 0.82 |
จากการเปรียบเทียบจะเห็นว่า ยิ่งตัวเลขค่า AWG มากขึ้น ขนาดของลวดตัวนำไฟฟ้าในหน่วย Sqmm. ก็ยิ่งเล็กลงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เราสามารถเป็นอย่างไรกันบ้างกับความรู้เกี่ยวกับสายไฟที่เรานำมาฝาก อ่านมาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนได้รู้จักสายไฟแต่ละชนิดมากขึ้น และสามารถเลือกใช้งานได้เหมาะสมกับลักษณะงานเพื่อความปลอดภัยและคุ้มค่าที่สุดหากคุณกำลังมองหาสายไฟฟประเภทต่าง ๆ TETA INTERTRADE รวบรวมอุปกรณ์ไฟฟ้า สายไฟทองแดง สายไฟอะลูมิเนียม และสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย สามารถเลือกชมสินค้าของเราได้ที่เว็บไซต์ TETA INTERTRADE และสั่งซื้อสินค้าได้ที่แอปพลิเคชัน Line ทีมงานของเราพร้อมให้คำแนะนำเพื่อให้คุณได้สินค้าที่ตอบโจทย์การใช้งานที่สุด